ขี้มอด ๒

Dalbergia robusta Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
ขางไส้ช้าง, คู่, เดื่อคู่, ฮางคาว (เหนือ); ลาวิด, พี้จั่น (กลาง); มะเล้น, ระวิดตัวผู้, ระวิดตัวเมีย
ไม้ต้น ทุกส่วนที่ยังอ่อนรวมทั้งช่อดอก มีขน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อยรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกเหนือรอยแผลใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีชมพูหรือม่วงอ่อน ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบ ขอบด้านบนมีครีบบางยาวตลอดฝัก

ขี้มอดชนิดนี้เป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๐-๑๕ ม. กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๕-๑๕ ซม. ใบย่อย ๑๓-๒๑ ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๔ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนสอบ ด้านล่างมีขนแน่นกว่าด้านบน ก้านใบย่อยยาว ๒-๔ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกเหนือรอยแผลใบพร้อมใบอ่อน ยาว ๕-๑๕ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีชมพูถึงสีม่วงอ่อน ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นรูปสามเหลี่ยมตื้น ๆ ๕ แฉก ยาวประมาณ ๒ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปโล่ หรือรูปไข่กลับกว้าง ปลายเว้า เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗ มม. กลีบคู่ข้างรูปขอบขนานปลายทู่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. กลีบคู่ล่างเชื่อมติดกันเป็นรูปเรือ กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาว ๕ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูโคนติดกันเป็นแผ่นหุ้มเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนคลุม มี ๑ ช่อง และมีออวุลหลายเม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบ เรียวแคบ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. ปลายมน โคนสอบ มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน ขอบด้านบนของฝักมีครีบแบนบางยาวตลอดฝัก มี ๒-๘ เมล็ด เมล็ดรูปไต สีน้ำตาล กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม.

 ขี้มอดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคเหนือ ขึ้นตามที่โล่งในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้มอด ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia robusta Roxb.
ชื่อสกุล
Dalbergia
คำระบุชนิด
robusta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
ขางไส้ช้าง, คู่, เดื่อคู่, ฮางคาว (เหนือ); ลาวิด, พี้จั่น (กลาง); มะเล้น, ระวิดตัวผู้, ระวิดตัวเมีย
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม